โรคกระดูกสันหลังเคลื่อน (Spondylolisthesis) คือภาวะที่ข้อต่อกระดูกสันหลังข้อใดข้อหนึ่งจากเดิมที่เคยอยู่เรียงเป็นแนวกับข้อต่อชิ้นอื่น เกิดการล้ำหน้าออกมาจากแถว หรือเคลื่อนไปทางด้านหลังมากกว่าปกติ ส่วนใหญ่จุดที่เคลื่อนมักอยู่แถวบริเวณกระดูกสันหลังระดับเอวข้อที่ 4 หรือข้อที่ 5 เนื่องจากกระดูกสันหลังส่วนนี้จะเจอแรงกดจากน้ำหนักตัวค่อนข้างมาก ใครที่เป็นโรคนี้จะมีปัญหาปวดหลังเรื้อรังจนเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิต
กระดูกสันหลังเคลื่อน ปล่อยไว้นานอาจไม่ใช่แค่ปวดหลัง
ผู้ที่มีภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อน ส่วนใหญ่มักเจอความทรมานที่ 2 บริเวณด้วยกัน คือ
- ส่วนหลัง พบว่ามีอาการปวดหลังเรื้อรัง โดยเฉพาะหลังส่วนล่าง (ตั้งแต่เอวหรือใต้ชายโครงจนไปถึงสะโพก) อาการปวดจะแสดงออกมามากขึ้น ถ้ายิ่งมีการขยับตัว ไม่ว่าจะเป็นการก้ม ๆ เงย ๆ ตามปกติ หรือทำกิจกรรมที่ใช้งานหลังเยอะ เช่น แบกของ เล่นกอล์ฟ แต่หากอยู่เฉย ๆ จะรู้สึกดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
- ส่วนขา เริ่มมีอาการชา ๆ ที่ต้นขาทั้ง 2 ข้าง ยิ่งเดินเยอะจะยิ่งรู้สึกชามากขึ้น เหมือนกับมีเข็มตำอยู่ที่ขาหรือฝ่าเท้า ประกอบกับระยะก้าวในการเดินสั้นลงเรื่อย ๆ เพราะกล้ามเนื้อขาอ่อนแรงลง หากจุดที่ข้อต่อเคลื่อนไปกระทบเส้นประสาทที่อยู่ในโพรงกระดูกสันหลัง อาจทำให้เกิดปัญหาเรื่องการควบคุมระบบขับถ่ายตามมาได้ เหมือนกับลักษณะอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ซึ่งใครที่มีอาการในขั้นนี้ควรรีบพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะอาจจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด
- กรณีที่พบได้น้อยคือข้อต่อกระดูกสันหลังช่วงอกเคลื่อน จะทำให้เกิดอาการเป็นอัมพาตครึ่งตัวบน
โรคกระดูกสันหลังเคลื่อนเกิดสาเหตุใด
โรคกระดูกสันหลังเคลื่อน มักพบในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป เนื่องจากเป็นวัยที่มีการเสื่อมสภาพของร่างกายตามธรรมชาติ มีภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกินเกณฑ์ ทำให้ข้อต่อแบกรับน้ำหนักตัวมากกว่าคนทั่วไป และผู้หญิงจะมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้ชาย เพราะโครงสร้างร่างกายของผู้หญิง ทั้งมวลกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น หรือกระดูกต่าง ๆ มีความแข็งแรงน้อยกว่าผู้ชาย จึงเสี่ยงที่ตัวข้อต่อกระดูกสันหลังจะเสื่อมสภาพเร็ว และหลุดเคลื่อนออกมาจากแนวเดิมได้มากกว่า นอกจากนั้นยังมีสาเหตุอื่น ๆ ได้แก่
- กระดูกสันหลังมีลักษณะผิดปกติมาแต่กำเนิด
- การใช้งานส่วนหลังหนักเกินไป เช่น นั่งไม่ถูกต้องและนั่งท่าเดิมนาน ๆ ซึ่งจัดว่าเป็นหนึ่งในพฤติกรรมเสี่ยงปวดหลังเรื้อรัง หรือทำกิจกรรมที่กระดูกสันหลังต้องรับแรงกดมาก เช่น กีฬาบางประเภทอย่างการยกน้ำหนัก ยิมนาสติก เป็นต้น
- ใช้เตียงนอนที่สภาพไม่ดีเป็นเวลานานหลายปี เช่น นิ่มหรือแข็งเกิน มีแอ่งหลุมตรงกลาง ไม่มีความเรียบสม่ำเสมอ หรือไม่มีคุณสมบัติรองรับร่างกายตามหลักสรีรศาสตร์ ซึ่งเป็นสาเหตุที่คนส่วนใหญ่ไม่ทันได้สังเกต ทำให้โครงสร้างกระดูกเกิดการงอตัวไปตามสภาพที่ไม่ได้มาตรฐานของเตียงนอน แรงกดดันจึงค่อย ๆ สะสมตัวจนเกิดความเสียหายต่อกระดูกสันหลัง
- ได้รับอุบัติเหตุ หรือถูกท้ายร้ายร่างกายจนกระดูกสันหลังเสียหาย
- การติดเชื้อที่บริเวณกระดูกสันหลัง เช่น วัณโรคกระดูกสันหลัง หรือเป็นโรคมะเร็งที่มีการลุกลามไปถึงกระดูกสันหลัง
หากเริ่มปวดหลัง รีบป้องกันก่อนสาย
เมื่อพบว่าตัวเองไม่ได้มีอาการรุนแรงจนต้องพบแพทย์ ให้เริ่มดูแลตัวเองเพื่อป้องกันอาการลุกลาม เช่น
- รู้จักการปรับอิริยาบถให้ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการยืน เดิน นั่ง หรือนอน สำหรับชาวออฟฟิศที่นั่งนาน ๆ จนเริ่มเจอปัญหากระดูกสันหลังเคลื่อน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้ที่บทความ การนั่งทำงานตามหลักการยศาสตร์
- ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์สุขภาพดี หากพบว่ากระดูกสันหลังมีปัญหาเนื่องจากรับน้ำหนักตัวมากเกินไป ให้ลดแป้ง ไขมัน ของหวานทั้งหลาย รวมไปถึงไม่กินหนักในมื้อเย็นและช่วงดึก แล้วหันมาทานผักผลไม้ให้มากขึ้น
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพราะเมื่อมัดกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นรอบ ๆ กระดูกสันหลังมีความแข็งแรง จะช่วยประคับประคองให้กระดูกสันหลังอยู่ในแนวเดียวกันได้ดี หรือต่อให้เกิดปัญหาที่กระดูกขึ้นแล้ว อาการก็จะไม่รุนแรงมากเท่ากับผู้ที่มัดกล้ามเนื้อมีสภาพอ่อนแอ อย่างไรก็ดี อย่าลืมอบอุ่นร่างกายก่อนทุกครั้ง เพื่อให้ร่างกายปรับสภาพกล้ามเนื้อได้ทัน และหากรู้ว่าตนเองกำลังมีปัญหาช่วงหลัง ไม่ควรเล่นกีฬาที่ต้องกระแทก กระโดด หรือต้องมีการดึงรั้งช่วงกระดูกสันหลัง เช่น กอล์ฟ โบว์ลิ่ง กระโดดเชือก เทนนิส ยกน้ำหนัก วิ่งมาราธอน เป็นต้น
- เลือกใช้เตียงนอนคุณภาพดี และมีการออกแบบเพื่อคำนึงในเรื่องการรองรับแนวกระดูกสันหลัง ลักษณะพื้นที่นอนมีความสม่ำเสมอ พื้นผิวของฟูกต้องนุ่มแต่ไม่นิ่มจนยวบเกินไป เพราะนอกจากจะทำให้กระดูกสันหลังคดงอแล้ว เมื่อใช้นาน ๆ จะเกิดแอ่งหลุมบนเตียงนอน ทำให้นอนแล้วปวดหลัง กระดูกสันหลังพัง เช็กง่าย ๆ คือเมื่อลองนั่งหรือออกแรงกดลงบนฟูกจะเกิดแรงต้านขึ้นในทันที ซึ่งบ่งบอกว่านั่นเป็นเตียงนอนที่มีความยืดหยุ่นสูง ทำให้กระดูกสันหลังได้เรียงตัวอย่างเป็นธรรมชาติ
สรุป
กระดูกสันหลังของเราย่อมมีการเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลาอยู่แล้ว ดังนั้นสำหรับใครที่ยังไม่ถึงวัย 50 ปีขึ้นไป และไม่อยากทรมานปวดหลังเรื้อรังเพราะกระดูกสันหลังเคลื่อน พยายามอย่าใช้ร่างกายให้หนักเกินความจำเป็น หรือละเลยเรื่องการบำรุงดูแลรักษาสุขภาพ เพราะมีแต่จะเร่งให้ร่างกายเสื่อมสภาพลองก่อนวัยอันควร เพราะฉะนั้น หันมาถนอมร่างกายไปด้วยกัน เพื่อที่เราจะได้มีสุขภาพดี ๆ ไปได้อีกยาวนาน