โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เป็นหนึ่งในโรคยอดฮิตของคนยุคนี้ สำหรับคนที่กำลังสงสัยว่าตัวคุณเป็นโรคนี้อยู่ด้วยหรือเปล่า แนะนำให้ดู 4 สัญญาณเตือนจากบทความนี้ ถ้าพบว่าใช่แทบทุกข้อ คงถึงเวลาไปหาหมอ พร้อมกับจัดแจงที่นอนหมอนมุ้งเสียใหม่ เพื่อจะได้ไม่ต้องเจ็บปวดมากจนร้องโอดโอย แต่ก่อนไปดูสัญญาณ มาทำความเข้าใจที่มาที่ไปของโรคนี้กันสักนิด
กลไกการเกิดโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
หมอนรองกระดูกสันหลัง คือ ส่วนที่วางเรียงอยู่ระหว่างปล้องของกระดูกสันหลังแต่ละคู่ เปรียบเสมือนเป็นตัวโช้กอัพหรือสปริงที่รองรับน้ำหนัก และช่วยให้กระดูกสันหลังของเราสามารถเคลื่อนไหวได้ ซึ่งการจะทำให้การเคลื่อนไหวเป็นไปอย่างปกติ หมอนรองกระดูกจำเป็นต้องมีความแข็งแรงพอสมควร
แต่ในปัจจุบันที่เป็นยุคของการแข่งขัน ผู้คนต่างเร่งรีบทำงานและใช้ร่างกายหนักเกินไป เช่น
- การก้ม ๆ เงย ๆ มองหน้าจอคอมพิวเตอร์ สลับกับเคลียร์เอกสารบนโต๊ะไปด้วย
- การขับรถเดินทางไกลเป็นเวลานาน ๆ
- การแบกของหนักเป็นประจำ
- หลงลืมการดูแลตัวเองอย่างการออกกำลังกาย หรือไม่ได้ใช้ตัวช่วยแก้อาการปวดเมื่อย
หมอนรองกระดูกบริเวณสันหลังจึงต้องทำงานมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการเสื่อมประสิทธิภาพ การรับแรงกดจากกระดูกแต่ชิ้นลดน้อยลง จนสุดท้ายหมอนรองกระดูกเกิดการฉีกขาด ปลิ้น หรือแตกเสียหาย จนสารน้ำภายใน (nucleus pulposus) ที่มีลักษณะคล้ายเจลลี่ทะลักออกมา และไปกดทับรากประสาทที่อยู่บริเวณด้านหลัง นี่จึงเป็นที่มาของอาการเจ็บป่วยที่เรียกว่า หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
4 สัญญาณเตือน หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
1. อาการปวดร้าวลงแขน ลงขา
ถ้าคนที่ใช้งานช่วงคอมาก ๆ อาการเริ่มแรกจะเหมือนอาการนอนตกหมอน หันหน้าไม่ถนัด รู้สึกกล้ามเนื้อแข็งตึงไปหมด และปวดร้าวไปตามแขน ปลายมือ
ส่วนคนที่ใช้งานส่วนหลังหนัก ๆ อาการปวดจะจู่โจมบริเวณหลังส่วนล่างมาถึงกระดูกกระเบนเหน็บ หรือสะโพกด้านหลัง จนค่อย ๆ ปวดร้าวไปที่ขา ซึ่งเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ช่วงขาหนีบ ต้นขา หัวเข่า หน้าแข้ง ตาตุ่ม ไปจนถึงปลายเท้า ขึ้นอยู่กับว่าหมอนรองกระดูกไปทับเส้นประสาทตัวไหน
อาการปวดในระยะนี้จะส่งผลเสียหลัก ๆ คือ รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะจะยืน เดิน นั่ง นอนไม่ค่อยสะดวก ที่สำคัญคนที่เป็นจะรู้สึกรำคาญใจมาก เพราะอาการปวดจะเป็น ๆ หาย ๆ
2. อาการชาตามมือ ตามเท้า
อาการชาตามมือ ตามเท้านี้ จะมีได้หลากหลายรูปแบบ เช่น ในบางคนอาจรู้สึกเหมือนเป็นเหน็บชาที่เกิดจากนั่งทับแทนหรือขานาน ๆ บางคนอาจชาจนไม่รู้สึก สังเกตได้ว่าถ้าลองหยิกหรือใช้ของแหลม ๆ มาจิ้มจะไม่รู้สึกเจ็บเหมือนส่วนอื่น ๆ ที่ไม่มีอาการชา หรืออาการชาแบบสุดท้ายคือ ชาแบบปวดแสบปวดร้อนไปด้วย ใครเผลอมาโดนบริเวณนั้นจะเด้งตัวหนีทันทีเพราะรู้สึกแสบร้อนจนทนไม่ได้
3. อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง
ในทางการแพทย์ อาการนี้เริ่มเข้าสู่ระดับอาการรุนแรง เพราะเส้นประสาทถูกกดทับมากเกินไป จนทำให้กล้ามเนื้อบริเวณมือ นิ้วมือ ขา ปลายเท้า และนิ้วเท้า ไม่สามารถขยับได้ตามปกติ รู้สึกอ่อนล้า ถ้าหมอนรองกระดูกส่วนคอถูกกดทับหนัก ๆ จะพบว่าไม่มีแรงหยิบจับอะไรเลย แค่ติดกระดุมก็ทำไม่ได้
ส่วนคนที่หมอนรองกระดูกส่วนหลังถูกกดทับ จะมีอาการเด่นชัดเดินได้ไม่สะดวก ลุกขึ้นยืนได้ไม่ค่อยมั่นคง บางคนอาจกระดกข้อเท้าไม่ได้ถึงขนาดที่ว่า เวลาเดินรองเท้าจะหลุดเป็นประจำ เพราะเท้าไม่สามารถรับน้ำหนักของรองเท้าได้อีกต่อไป แม้จะเป็นรองเท้าแตะธรรมดา ๆ ก็ตาม บางคนอาจพบว่าตัวเองจิกงอนิ้วเท้าไม่ได้ร่วมด้วย
4. มีปัญหาด้านระบบขับถ่าย
สัญญาณเตือนสุดท้ายนี้บ่งบอกได้ว่า คุณกำลังเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทอย่างรุนแรง คุณอาจไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือปรึกษาแพทย์ในเบื้องต้น จนทำให้หมอนรองกระดูกส่วนหลังที่กำลังเสียหาย ไปกดทับระบบรากประสาทที่ส่งผ่านไปยังไปกระเพาะปัสสาวะกับลำไส้ใหญ่ รวมถึงควบคุมกล้ามเนื้อหูรูดที่ใช้ในการขับถ่าย ทำให้เกิดอาการกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้ หรือในทางตรงข้ามคือขับถ่ายไม่ออก
อย่าลืมสำรวจตัวเอง
หลังจากข้อมูลเหล่านี้แล้ว ลองมาสำรวจตัวเองกันอีกครั้งว่าเรากำลังเจอสัญญาณเตือนเหล่านี้หรือไม่ หรือคนใกล้ตัวเราคนไหนกำลังเป็นบ้างหรือเปล่า ถ้าพบว่าคุณหรือคนใกล้ชิดมีอาการมาจนถึงข้อที่ 4 ขอบอกว่าคุณต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วน เพราะนี่คืออาการรุนแรงที่อาจต้องให้คุณหมอพิจารณาเรื่องการผ่าตัดได้เลย
ส่วนใครที่เจอสัญญาณเตือนอยู่ในช่วง 1-2 ข้อแรก ควรรีบเปลี่ยนพฤติกรรมในเรื่องการยืน เดิน นั่งให้เหมาะสม และควรให้ตัวเองได้มีเวลาพักผ่อนเยอะ ๆ เพราะผู้ป่วยด้วยโรคนี้ อาการปวดร้าวหรือชาที่เป็นอยู่มักจะดีขึ้น เมื่อเวลาที่ได้ล้มตัวนอนพัก ซึ่งเป็นเพราะร่างกายไม่ได้อยู่ในลักษณะตั้งตรง และเกิดแรงกดไปตามกระดูกช่วงคอหรือตามแนวสันหลัง หมอนรองกระดูกที่เสื่อมสภาพอยู่จึงไม่ต้องถูกบีบทับลงมามาก ทำให้ลดโอกาสที่จะเกิดการปลิ้นไปกดทับเส้นประสาท
ที่สำคัญ อย่าลืมสำรวจเครื่องนอนในห้องตอนนี้ว่า สามารถช่วยบรรเทาความเจ็บปวดให้คุณได้มากแค่ไหน ถ้าใครยังมีแค่ที่นอนธรรมดา ๆ อาจเริ่มด้วยการลองใช้หมอนที่ดีต่อสุขภาพก่อน เพราะส่วนคอก็ใช้งานหนักมาทั้งวัน ถ้าได้เจอหมอนที่ต่อสรีระช่วงคอจนลดอาการปวดร้าวได้แล้ว ค่อยขยับมาที่การเลือกที่นอน จากนั้นหาหมอนข้างมาเสริมใต้เข่าด้วยก็ยิ่งดี เพียงเท่านี้หมอนรองกระดูกก็ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ อาการปวดไม่มีลุกลาม