อาการปวดหัวบริเวณท้ายทอย หรือปวดคออย่างรุนแรง หากเกิดขึ้นกับคุณหรือคนใกล้ตัว ควรรีบเข้ารับการรักษาในทันที เพราะนี่อาจเป็นสัญญาณของโรคเส้นเลือดสมองโป่งพอง ที่นำไปสู่ภาวะอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือถึงขั้นเสียชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็ว
ทำความรู้จักอาการปวดหัวเฉียบพลัน จากโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง
โรคเส้นเลือดสมองโป่งพองนั้น ทางการแพทย์คาดว่าเกิดจากผนังหลอดเลือด (ส่วนใหญ่พบว่าเป็นหลอดเลือดแดง) ในบางจุดมีการเสื่อมสภาพ หรือเรียกได้ว่ามีความบางลง ดังนั้นเมื่อเจอกับแรงดันของเลือดที่ไหลผ่าน จึงทำให้จุดที่มีความบางกว่าบริเวณอื่นนั้นเกิดการนูนหรือโป่งพองขึ้นเป็นกระเปาะที่มีลักษณะคล้ายบอลลูน โดยมีขนาดใหญ่มากกว่า 1.5 – 2 เท่าของขนาดปกติ เมื่อไม่ได้มีการตรวจพบจุดที่โป่งพองนี้ วันหนึ่งก็จะมีเกิดแตก ทำให้เกิดภาวะที่สำคัญ คือ เลือดออกในช่องใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นอะแร็คนอยด์ ซึ่งมีความอันตรายที่ทำให้พิการหรือนำไปสู่การเสียชีวิตได้ในทันที
ข้อมูลจากกรมการแพทย์ โดยสถาบันประสาทวิทยา ระบุว่า เส้นเลือดสมองโป่งพองแบ่งออกเป็น 2 ประเภท
- เส้นเลือดสมองโป่งพองแบบยังไม่แตก มัก มีการกดทับเส้นประสาทข้างเคียง โดยกระเปาะจะมีขนาดใหญ่มากกว่า 2.5 เซนติเมตร และทำให้ผู้ป่วยชักหรืออ่อนแรงได้
- เส้นเลือดสมองโป่งพองแบบแตกแล้ว เมื่อมีการแตก เลือดที่ถูกขับออกมาจะทำให้ความดันในกะโหลกเพิ่มสูงขึ้น ถ้าไม่มีการหยุดเลือดไว้ได้ ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตทันที แต่ถ้าเลือดหยุดได้ ผู้ป่วยจะมีอาการเลือดออกในชั้นต่าง ๆ ของสมอง เช่น เลือดออกในช่องใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นอะแร็คนอยด์ หรือเลือดออกในเนื้อสมอง เป็นต้น
ใครบ้างที่มีความเสี่ยง
โรคนี้พบได้บ่อยและเป็นปัญหาที่สำคัญสำหรับผู้มีอายุ 40 ปีขึ้นไป เพราะเป็นวัยที่หลอดเลือดแดงเริ่มมีการเสื่อมสภาพลง และพบได้บ่อยในผู้ที่เป็นโรคอ้วน น้ำหนักเกิน มีไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง รวมไปถึงการสูบบุหรี่จัด
นอกจากนั้น ยังพบว่ามีปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้เส้นเลือดในสมองบางจุดมีความบางกว่าปกติ เช่น มีความผิดปกติแต่กำเนิด หรือเป็นโรคทางพันธุกรรม ที่มีผลให้หลอดเลือดสมองไม่แข็งแรงเหมือนคนทั่วไป, เส้นเลือดแข็งตัวและเสื่อม, มีการติดเชื้อในกระแสเลือด ส่งผลให้เชื้อฝังตัวที่ผนังหลอดเลือดสมอง หรือเกิดการอักเสบในร่างกาย, เนื้องอกบางชนิด, เป็นโรคหลอดเลือดสมองชนิดอื่น ที่ทำให้มีการไหลเวียนของเลือดมากขึ้น หลอดเลือดสมองจึงต้องรับกระแสเลือดมากกว่าปกติเป็นเวลานาน หรือเกิดอุบัติเหตุหรือเคยได้รับบาดเจ็บบริเวณสมอง เป็นต้น
อาการของโรคเส้นเลือดสมองโป่งพอง
ส่วนใหญ่โรคนี้มักไม่แสดงอาการที่เตือนให้ผู้ป่วยได้รู้ตัวตั้งแต่เนิ่น ๆ ผู้ป่วยจะรู้ว่าเป็นโรคนี้ต่อเมื่อไปรักษากับแพทย์ด้วยโรคอื่น เช่น มองภาพได้เลือนราง แล้วตรวจพบโดยบังเอิญ หรือมักจะแสดงอาการเมื่อเส้นเลือดมีอาการโป่งมากหรือใกล้จะแตก ซึ่งจะพบอาการได้ดังนี้
- ปวดหัวอย่างรุนแรง เฉียบพลัน เหมือนถูกของแข็งฟาดอย่างแรง
- มักปวดบริเวณท้ายทอย ปวดร้าวบริเวณใบหน้า หรือปวดคอร่วมด้วย
- รู้สึกมึนงง สับสน คลื่นไส้อาเจียน
- อาจมีอาการหนังตาตก ตาเหล่ ตาพร่ามัว ชักเกร็ง เนื่องจากเส้นประสาทบางส่วนถูกกดทับ
- ร่างกายบางส่วนอ่อนแรง มีอาการแขนขาชา พูดไม่ชัด ปากเบี้ยว ลิ้นแข็ง เพราะกระเปาะหลอดเลือดที่โป่งพองมีขนาดใหญ่จนเลือดไหลวนอยู่ภายใน ทำให้เกิดลิ่มเลือดหลุดไปอุดตันหลอดเลือดสมองส่วนปลาย
- เมื่อปล่อยให้มีอาการปวดหัวหนักต่อไปเรื่อย ๆ บางรายอาจหมดสติในทันที
- หากผู้ป่วยที่เส้นเลือดโป่งพองจนแตกแล้วทำให้มีเลือดออกในสมอง จะมีโอกาสที่เสียชีวิตสูงก่อนที่จะมาถึงโรงพยาบาล
การวินิจฉัยโรคและการรักษา
ทางการแพทย์จะวินิจฉัยโรคนี้ด้วยวิธีหลัก ๆ 3 แบบ คือ การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT Scan) การตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) การตรวจหลอดเลือดสมองด้วยการฉีดสารทึบรังสี (Cerebral Angiography) ส่วนคนที่มีแนวโน้มว่าเส้นเลือดกำลังจะแตก แพทย์มักจะแนะนำให้เข้าสู่การผ่าตัด เพื่อทำการรักษาห้ามเลือดไม่ให้เข้ายังจุดที่โป่งพอง ส่วนรายที่เส้นเลือดแตกแล้ว ต้องการทำผ่าตัดอย่างเร่งด่วนเท่านั้น เพื่อนำก้อนเลือดที่คั่งค้างอยู่ออก พร้อมกับซ่อมแซมผนังหลอดเลือดที่มีความเสียหาย
การป้องกันปวดหัวท้ายทอยเฉียบพลัน
- ใครที่มีโรคประจำตัวอย่างไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง ควรทานยาต่อเนื่องและทำการรักษาตามนัด เพื่อควบคุมระดับความดันและไขมันให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- อย่างที่กล่าวไปว่าโรคนี้ในระยะแรกจะไม่มีแสดงอาการใด ๆ ดังนั้นคนที่แข็งแรงอยู่แล้วก็ควรตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อเป็นการป้องกันไว้ก่อน
- งดการสูบบุหรี่ รวมไปถึงการดื่มแอลกอฮอล์ให้น้อยลง และงดใช้สารเสพติดต่าง ๆ
- ออกกำลังกายให้บ่อยขึ้น
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มจัดหรือมีไขมันสูง อย่างเช่นของทอดทั้งหลาย และเน้นการรับประทานผักหรือผลไม้ให้มากขึ้น
เรียกได้ว่า อาการปวดหัว ปวดคอเฉียบพลันในลักษณะนี้ สามารถคร่าชีวิตเราได้โดยไม่ทันได้เตรียมใจ แต่การตรวจสุขภาพประจำปี หลีกเลี่ยงการนำสิ่งที่ไม่ประโยชน์เข้าสู่ร่างกาย ออกกำลังให้มากขึ้น ย่อมทำให้ความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตยิ่งลดน้อยลง
ส่วนใครที่คุณหมอวินิจฉัยว่าอาการปวดคอที่เป็นอยู่ ไม่ได้เป็นผลมาจากหลอดเลือดสมองโป่งพอง ก็อย่าได้วางใจ เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ที่ต้องเรียนรู้วิธีป้องกันและรู้จักข้อควรทำ เพื่อช่วยลดอาการปวดหัว ปวดคอ หนึ่งในนั้นคือการใช้หมอนที่รองรับสรีระช่วงคอได้ดี สุดท้ายชีวิตของคุณก็จะห่างไกลจากอาการปวดหัว ปวดคออย่างเห็นได้ชัด