คนยุคนี้คงทราบกันมาบ้างว่า การใช้เวลากับหน้าจอดิจิทัลนาน ๆ ทำให้เราป่วยเป็นออฟฟิศซินโดรมกันมากขึ้น แต่รู้หรือไม่ว่า อีกหนึ่งโรคฮิตติดจอที่คนยุคใหม่เป็นกันเยอะไม่แพ้กัน ก็คือ Computer Vision Syndrome ซึ่งเป็นอาการเจ็บป่วยที่ส่งผลกระทบกับดวงตาโดยตรง
ใครที่ไม่อยากสายตาแย่จนทำงานไม่สะดวก หรือสงสัยว่าเราจะเป็นรึเปล่า งั้นต้องมาทำความรู้จักโรคนี้ให้มากขึ้น พร้อมกับรู้จักการดูแลตัวเองเบื้องต้น
รู้จัก Computer Vision Syndrome โรคฮิตติดจอของคนยุคใหม่
Computer Vision Syndrome หรือ CVS นับเป็นความเจ็บป่วยที่เหล่าพนักงานออฟฟิศหรือสายโซเชียลเป็นกันมาก เพราะเป็นกลุ่มอาการที่เกี่ยวข้องกับการใช้ตาจ้องมองหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ตโฟน แท็บเล็ต ไอแพด โดยมีการศึกษาพบว่า ร้อยละ 90 ของผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์มากกว่า 3 ชั่วโมงจะมีความเสี่ยงเป็นโรคนี้ได้สูง
ผู้ที่เป็น Computer Vision Syndrome จะมีอาการต่อไปนี้ เช่น ตาพร่ามัว ตาแห้ง ตาสู้แสงไม่ได้ โฟกัสภาพได้ช้า รวมทั้งมีอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อคอ บ่า ไหล่ ร่วมด้วย เนื่องจากการนั่งทำงานด้วยท่าทางที่ไม่ถูกต้อง นอกจากนั้น อาจทำให้มีค่าสายตาสั้นเพิ่มขึ้น
สาเหตุของการเป็นเจ้าโรคฮิตติดจอนี้ก็เพราะว่า หน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นั้นมีความสว่างและแสงสะท้อนมากกว่ากระดาษ ความคมชัดของหน้าจอเมื่อเทียบกับภาพหรือตัวอักษรในหน้ากระดาษก็น้อยกว่า ประกอบกับภาพหรือตัวหนังสือในจอดิจิทัลจะมีการสั่นไหวหรือมีการซ้อนทับ เมื่อเทียบกับการทำงานบนเอกสาร สายตาของเราจึงต้องใช้การเพ่งมองหรือทำงานหนักมากกว่า เพื่อที่จะโฟกัสภาพและเห็นรายละเอียดในจอได้ชัด
อีกทั้ง เรามักมีท่านั่งทำงานที่ไม่ถูกต้อง จัดสภาพโต๊ะทำงานไม่ดี สายตาจึงต้องเพ่งมองหนักขึ้น ผลที่ตามมาคือ ดวงตาและกล้ามเนื้อรอบดวงตาเกิดอาการเมื่อยล้า ยิ่งถ้าใช้เวลากับหน้าจอนานเท่าไร หรือมีปัญหาเรื่องสายตาอยู่แล้ว ยิ่งทำให้เสี่ยงเป็น Computer Vision Syndrome เพิ่มขึ้น
ทำยังไงถึงจะไม่เป็นโรคฮิตติดจอนี้
แม้การใช้เวลากับหน้าจอจะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยากในปัจจุบัน แต่เราสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง เพื่อลดโอกาสที่จะเป็น Computer Vision Syndrome ได้ เช่น
1. ใช้หลักการ 20-20-20
ใช้หลักการ 20-20-20 หมายถึง ทุก ๆ 20 นาที ต้องมีการพักตาเป็นเวลา 20 วินาที โดยให้สายตามองไกลออกไป 20 ฟุต และถ้ามองไปบริเวณที่มีต้นไม้สีเขียวได้จะยิ่งดีมาก หากใครกลัวว่าจะทำงานเพลินจนลืมพักตา ควรตั้งนาฬิกาเตือนไว้ทุก 20 นาที เมื่อครบเวลาแล้วจึงค่อยมาทำงานต่อ
2. ตัดแว่นหรือเช็คค่าสายตาทุกปี
คนที่มีปัญหาเรื่องสายตา ควรตัดแว่นหรือตรวจเช็กค่าสายตาทุกปี เพื่อให้ได้แว่นที่ใส่แล้วสบายตาที่สุด และอย่าลืมใส่แว่นทุกครั้งขณะจ้องมองหน้าจอ อีกทั้งควรเลือกใช้เป็นเลนส์กรองแสงหน้าจอโดยเฉพาะ
3. หยอดน้ำตาเทียม
เมื่อใช้เวลาอยู่กับหน้าจอนาน ๆ เรามักจะไม่รู้ตัวว่ากำลังกะพริบตาน้อยลง จึงทำให้น้ำตาที่หล่อเลี้ยงดวงตาอยู่ระเหยเร็ว จนเกิดอาการตาแห้ง เคืองตา แสบตา หรือรู้สึกเหมือนมีผงอยู่ในดวงตา ดังนั้นควรเตือนตัวเองให้กะพริบตาบ่อย ๆ หรือหยอดน้ำตาเทียมเป็นประจำก็ได้ เพื่อให้ดวงตามีความชุ่มชื้นและรู้สึกสบายตามากขึ้น
4. จัดตำแหน่งจอคอม
การจัดตำแหน่งหน้าจอคอมฯ กับตัวเราควรมีความสมดุล กล่าวคือ ต้องเช็กว่าหน้าจอไม่ได้อยู่ไกลจากตัวเกินไปจนต้องโน้มตัวไปเพ่งมอง ระยะห่างที่ดีคือประมาณ 1 ช่วงแขน หรือไม่ควรให้หน้าจออยู่สูงหรือต่ำกว่าระดับสายตามาก จนเวลาทำงานเราต้องเงยหน้าหรือก้มมองมากเกินไป ซึ่งนอกจากจะทำให้ปวดตาแล้ว ยังอาจทำให้มีปัญหาปวดคอตามมา หากจัดการตัวเองได้แบบนี้ ยังถือว่าเป็นไปตามหลักการยศาสตร์ที่ช่วยลดความเสี่ยงเป็นออฟฟิศซินโดรมได้อีกด้วย
5. ทำความสะอาดหน้าจอสม่ำเสมอ
ทำความสะอาดหน้าจออุปกรณ์อย่างสม่ำเสมอ อย่าให้มีรอยนิ้วมือหรือฝุ่นสะสม เพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจนมากที่สุด
6. ปรับแสงสว่างหน้าจอคอม
แสงสว่างหน้าจอ ควรปรับให้รู้สึกว่ามองเห็นได้ชัดแต่ไม่จ้าจนปวดตา หากปรับเป็นโหมดกรองแสงได้ก็ควรปรับ
7. ควรทำให้ห้องทำงานมีแสงสว่างเพียงพอ
ควรทำให้ในห้องหรือบริเวณที่ทำงานมีแสงสว่างมากเพียงพอ และแสงควรส่องมาจากด้านข้างมากกว่าด้านหลังตัวเรา เพราะแสงจากด้านหลังเมื่อตกกระทบหน้าจอ จะให้เกิดแสงสะท้อนเข้าดวงตาเราทำให้ปวดตาได้
8. ควรพักสายตาเมื่อหยุดทำงาน
หากเสร็จสิ้นจากการทำงานหรือในช่วงหยุด ควรหลีกเลี่ยงการใช้เวลากับหน้าจอโทรศัพท์ แล้วเลือกทำกิจกรรมอื่นเพิ่มความผ่อนคลายแทน เช่น จัดห้องนอนเสียใหม่ งีบตอนกลางวันสักนิด เดินรดน้ำต้นไม้รอบบ้าน หากยากเกินไปก็ควรเตือนตัวเองว่า อย่าจ้องหน้าจอนานเกินกว่า 2 ชั่วโมง ก็จะช่วยให้ดวงตาได้มีเวลาพักผ่อนเพิ่มขึ้น
สรุป
เห็นไหมคะว่า อาการเจ็บป่วยที่คนยุคใหม่ควรระวังไม่ได้มีเพียงออฟฟิศซินโดรม แต่ยังมีโรคฮิตติดจออย่าง Computer Vision Syndrome ที่ทำร้ายดวงตาของเราได้อย่างจัง หลักสำคัญคือต้องเตือนตัวเองให้สายตาได้มีเวลาพัก เพราะฉะนั้นต่อไปนี้เมื่อคิดจะพักผ่อน ให้วางโทรศัพท์ลงก่อน แล้วเปลี่ยนมานอนพักบนที่นอนยางพาราผืนโปรดสักหน่อย พร้อมกับสร้างกลิ่นอโรมาในห้องนอน บอกเลยว่านอกจากสายตาจะได้พักแล้ว ตัวและใจยังได้พักในคราวเดียว หากทำบ่อย ๆ จนเป็นกิจวัตร อาจช่วยบำบัดอาการติดโซเชียลไปได้อีก รู้ว่าดีขนาดนี้ งั้นต้องลองปรับเปลี่ยนตัวเองกันแล้วล่ะ