รู้ทันอาการ “ปวดคอ” ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม

อาการปวดคอ

คอ ถือว่าเป็นอวัยวะหนึ่งที่เราใช้งานมากที่สุด โดยเฉพาะการทำงานในทุกวันนี้ที่เราต้องทำงานกับคอมพิวเตอร์อยู่แทบจะตลอดเวลา แถมต้องสลับไปจัดการเอกสารต่าง ๆ บนโต๊ะ คอจึงอยู่ในลักษณะก้ม ๆ เงย ๆ อยู่เสมอ ส่วนสมองก็ต้องทุ่มเทคิดงานตลอด ทำให้กล้ามเนื้อทั่วหน้า ศีรษะ และคอเกิดอาการหดเกร็ง

นอกจากนั้น คอยังเป็นอวัยวะที่บอบบางเมื่อเทียบกับส่วนลำตัว อาการบาดเจ็บจึงเกิดได้ง่ายกว่า และคอยังเป็นศูนย์รวมของเส้นประสาทที่รับคำสั่งมาจากสมอง และส่งต่อไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องรู้ทันอาการปวดคอให้มากขึ้น เพื่อป้องกันตัวเองได้ทัน ก่อนที่ความเจ็บปวดจะลุกลามและส่งผลต่อการทำงานและประสิทธิภาพของงานในอนาคต

ปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการปวดคอ

ปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการปวดคอ

  • เนื้อเยื่อกล้ามเนื้อบริเวณคอมีการอักเสบ สังเกตว่าเวลาออกแรงกดแถวกล้ามเนื้อใต้ท้ายทอยจะมีอาการเจ็บ และปวดต้นคอร้าวขึ้นไปยังศีรษะ มักมีปัญหาปวดศีรษะร่วมด้วย
  • จัดท่าทางในการใช้ชีวิตไม่ถูกต้อง เช่น นั่งก้มหรือเงยหน้าทำงานนาน ๆ หมอนรองคอที่ใช้ไม่ช่วยรองรับสรีระ หรือนิ่มและแข็งเกินไป นอนในท่ากึ่งนั่งกึ่งนอน เป็นต้น เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้คนยุคนี้ปวดคอง่าย
  • กระดูกคอเสื่อมไปตามอายุ จนเกิดหินปูนเกาะบริเวณกระดูก ซึ่งทำให้เส้นประสาทที่อยู่บริเวณนั้นระคายเคือง จึงมีอาการปวดคอแบบร้าวไปตามแขนด้วย แต่กรณีพบได้น้อย (ประมาณ 5 %)
  • เครียด มีปัญหาด้านสุขภาพจิต เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล ทำให้คอเกิดอาการเกร็งไปด้วย
  • บริเวณคอหรือท้ายทอยถูกกระแทก อาจเกิดจากอุบัติเหตุหรือถูกทำร้ายร่างกาย

ลักษณะอาการส่วนใหญ่ที่พบ

ลักษณะอาการส่วนใหญ่ที่พบ

  • ปวดคอเป็นพัก ๆ หรือมีอาการปวดแบบเฉียบพลัน
  • อาจมีอาการปวดศีรษะตื้อๆ
  • ปวดร้าวลงมาตามบ่า ไหล่ แขน และสะบักข้างใดข้างหนึ่ง
  • อาจมีอาการชาตามมือตามแขน กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • กล้ามเนื้อคอแข็งเกร็ง บริเวณท้ายทอย ต้นคอ และบ่า จะปวดเจ็บเป็นจุด ๆ
  • เคลื่อนไหวคอไม่ได้อย่างอิสระ ถ้าหันหน้าไปข้างหนึ่งจนสุดจะตึงและปวดมาก

การปฏิบัติตัวเมื่อมีอาการปวดคอ

การปฏิบัติตัวเมื่อมีอาการปวดคอ

  • จัดโต๊ะทำงานให้ลดการเอี้ยวหรือก้มคอมากไป เช่น คอมพิวเตอร์ควรมีความสูงให้อยู่ในแนวระดับสายตา
  • ควรตั้งนาฬิกาจับเวลาหรือเตือนตัวเองให้ลุกขึ้นยืน พร้อมกับปรับเปลี่ยนท่าทางอยู่เสมอ
  • เมื่อรู้ว่าต้องขับรถเดินทางไกล ๆ ควรเตรียมหมอนมาหนุนเสริมพนักพิงหรือใช้หมอนรองคอ
  • หลีกเลี่ยงการเต้น หรือท่าทางที่ต้องสะบัดคอหรือหมุนคอแรง ๆ
  • ประคบร้อนประมาณ 20-30 นาที โดยใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นหรือแผ่นประคบร้อน
  • หมั่นทำท่าบริหารต้นคอ เพราะจะช่วยให้กล้ามเนื้อคอมีความแข็งแรงและพยุงข้อต่อได้ดีขึ้น โดยวิธีคร่าว ๆ มีดังนี้
    • กล้ามเนื้อคอด้านหน้า วางมือด้านหน้าศีรษะ ตามด้วยการออกแรงเกร็งคอต้านกับฝ่ามือ
    • กล้ามเนื้อคอด้านหลัง วางมือด้านหลังศีรษะ จากนั้นออกแรงเกร็งคอต้านกับฝ่ามือเหมือนท่าแรก
    • กล้ามเนื้อคอด้านข้าง วางมือด้านข้างศีรษะ แล้วออกแรงเกร็งคอต้านกับฝ่ามือ จากนั้นสลับข้าง
    • ทุกท่าเวลาทำ ให้ค้างไว้แล้วนับ 1-10 ช้า ๆ ควรทำซ้ำ 10 ครั้ง อย่างน้อย 3 รอบต่อวัน แต่ถ้าใครทำแล้วมีอาการปวดเจ็บมาก ควรหยุดทำทันที
  • พักผ่อนให้มาก ๆ เพราะการนอนจะทำให้คอได้มีเวลาพักจากการแบกรับน้ำหนักของศีรษะมาตลอดทั้งวัน รวมทั้งทำให้สุขภาพจิตดีขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการนอนคว่ำนาน ๆ เนื่องจากท่านี้กระดูกสันหลังส่วนคอจะงอ เพราะเราต้องหันคอไปด้านข้างระหว่างที่นอน ควรปรับเป็นท่านอนหงายจะดีที่สุด เพราะทำให้แนวกระดูกตั้งแต่ช่วงคอเรียงตัวอย่างเป็นธรรมชาติ
  • ใช้หมอนรองคอที่ดีต่อสรีระ
    • ข้อนี้หลายคนมักหลงลืม เพราะคิดว่ายืดเส้นยืดสายระหว่างวันมาแล้ว จัดท่าทางการนั่งและนอนให้ถูกต้องแล้ว กลับถึงบ้านก็ขอล้มตัวนอนสลบ แต่จริง ๆ การใช้หมอนมีความสำคัญมาก
    • อย่าลืมว่าเวลาที่เรานอน อย่างน้อยก็อยู่ที่ 7 ชั่วโมง ถ้าใช้หมอนรองคอที่นิ่มหรือแข็งเกินไป ช่วงคอจะต้องค่อย ๆ สะสมอาการบาดเจ็บ จนอาการปวดคอธรรมดากลายเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ทำให้คุณต้องเสียเงินและเสียเวลาไปหาหมอ
    • ใครที่ยังใช้หมอนธรรมดา ควรปรับเป็นหมอนรองคอเพื่อสุขภาพที่มีส่วนโค้งเว้าสอดรับสรีระต้นคอและศีรษะได้อย่างสมดุล และต้องมีแรงต้านหรือคืนตัวได้สูง ไม่ทำให้นอนแล้วศีรษะเอนไหลไปข้าง ๆ จนนอนตกหมอน
    • ใครที่มีอาการปวดหัวร่วมด้วย ควรเลือกหมอนที่ผลิตจากวัสดุทำธรรมชาติ เพื่อจะลดการได้กลิ่นสารเคมีเพิ่มเติมจนมึนหัวมากขึ้น
    • ที่สำคัญคือควรมีความทนทานและใช้ได้นาน เพื่อลดการซื้อใหม่บ่อย ๆ และทำให้คอไม่ต้องปรับตามรูปหมอนที่เปลี่ยนไปมาจนเกิดอาการปวด ซึ่งนอกจากจะไม่ได้ช่วยให้ป้องกันการปวดคอได้ดีแล้ว ยังจะทำให้ปวดใจเพิ่ม เพราะต้องควักเงินมาซื้ออยู่เรื่อย ๆ

หากใครทำตามคำแนะนำเบื้องต้นแล้วยังไม่ดีขึ้น อาจจะต้องปรึกษาแพทย์เพิ่มเติม แล้วควรปล่อยให้คอได้พักการใช้งานเสียก่อน เพราะผลเสียของการโหมทำงานหนักมีมากมาย รู้แล้วรีบเปลี่ยนก่อนสาย เราจะได้มีสุขภาพแข็งแรงไปด้วยกันอย่างยาวนาน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์และโฆษณา

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลวส่วนบบุคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ Cookies ที่เราใช้งานได้แก่ Google Analytics และ Facebook Pixel

บันทึกการตั้งค่า