อาการปวดข้อมือและชาไปยังปลายนิ้ว หลายคนมักมองข้ามเพราะเห็นว่าเป็นความเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อาจหายไปได้สักวันหนึ่ง แต่ความจริงนี่อาจบ่งบอกถึงโรคเส้นประสาทอักเสบบริเวณข้อมือ ซึ่งหากปล่อยไว้นานเกินไป อาจทำให้เกิดความเสียหายมากขึ้น ดังนั้นมาทำความเข้าใจเรื่องอาการชาและปวดข้อมือจากเส้นประสาทอักเสบ เพื่อลดโอกาสที่คุณจะต้องเข้ารับการผ่าตัดในอนาคต
โรคเส้นประสาทอักเสบบริเวณข้อมือ คืออะไร
เรียกอีกอย่างว่า โรคเส้นประสาทกดทับบริเวณข้อมือ (Carpal Tunnel Syndrome หรือ CTS) คือ การที่เส้นประสาทมีเดียน (Median nerve) ซึ่งเป็นเส้นประสาทหลักที่หล่อเลี้ยงบริเวณฝ่ามือ และทำหน้าที่รับความรู้สึก พร้อมกับควบคุมการเคลื่อนไหวบริเวณนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางบางส่วน ต้องถูกกดทับหรือบีบรัดมาก ขณะที่ทอดผ่านโพรงภายในข้อมือ (Carpal tunnel) จึงเกิดอาการชาหรือปวดข้อมือและปลายนิ้ว
ลักษณะอาการที่พบบ่อย
- ชาบริเวณฝ่ามือ ปวดข้อมือ และมีอาการปวดแปลบเหมือนไฟช็อตหรือเข็มทิ่มที่นิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง และบางส่วนของนิ้วนาง แต่จะไม่เกิดขึ้นที่นิ้วก้อย
- อาการมักเกิดขึ้นได้ทั้งตอนกลางวันและตอนกลางคืน ขึ้นอยู่กับการใช้มือในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น คนที่ต้องขับรถตลอดทั้งวัน หรือยกของบ่อย ๆ ตอนทำงาน ก็จะเจออาการชาและปวดข้อมือระหว่างวัน แต่ถ้าตอนนอนมักทำท่างอมือโดยไม่รู้ตัว ก็อาจทำให้เกิดอาการชาตอนกลางคืนหรือตอนตื่นช่วงเช้าด้วย
- บางรายอาจมีอาการปวดร้าวขึ้นไปที่ท้องแขนด้วย
- เมื่อปล่อยไว้นาน ๆ ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการข้อมืออ่อนแรง สังเกตได้จากเมื่อลองหยิบจับของชิ้นเล็ก ๆ จะรู้สึกว่าทำได้อย่างยากลำบากจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น เขียนหนังสือไม่ได้ กำมือถือของไม่ได้ ไม่มีแรงจับโทรศัพท์
- กล้ามเนื้อบริเวณโคนนิ้วหัวแม่มือลีบลงมากกว่าปกติ
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง
อย่างที่กล่าวไปว่าเส้นประสาทมีเดียนนั้น ต้องลอดผ่านใต้โพรงที่อยู่บริเวณข้อมือ ซึ่งตรงจุดนี้นอกจากจะมีเส้นประสาทแล้วยัง มีเอ็น เยื่อหุ้มเอ็น และแผ่นพังผืดโดยรอบ ดังนั้นเมื่อส่วนประกอบเหล่านี้เกิดการเสื่อมและหนาตัวขึ้น ก็จะทำให้โพรงภายในตีบแคบลงจนกดทับเส้นประสาทมีเดียน และทำให้เส้นประสาทอักเสบในที่สุด
นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่กระตุ้นให้เส้นประสาทภายในข้อมือถูกกดทับมากขึ้น ได้แก่
- ผู้ที่มีข้อมือเล็ก เช่น ผู้หญิง มีความเสี่ยงที่เส้นประสาทมีเดียนจะถูกกดทับได้สูงกว่าผู้ชาย (จากสถิติพบว่ามีโอกาสมากกว่า 3 เท่า)
- กระดูกข้อมือหักหรือเคลื่อน เป็นผลให้โพรงข้อมือมีขนาดตีบแคบมากกว่าคนทั่วไป จึงมีโอกาสให้เส้นประสาทอักเสบได้ง่ายกว่า
- เส้นประสาทถูกทำลายหรือมีภาวะบาดเจ็บจากโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน
- การอักเสบของเอ็นกล้ามเนื้อบริเวณข้อมือ เป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือโรคเกาต์ ทำให้โพรงภายในข้อมือเกิดอาการบวม และอาจนำไปสู่การบีบกดเส้นประสาทได้
- ภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกิน เป็นอีกปัจจัยที่เพิ่มแรงกดทับไปยังเส้นประสาท
- การใช้งานมือและข้อมืออย่างหนัก มีการเคลื่อนไหวข้อมืออยู่ในท่าทางเดียวนาน ๆ จึงทำให้เกิดแรงกดที่สะสมมากขึ้น ๆ จนเส้นประสาทอักเสบ กลุ่มคนที่อยู่ในปัจจัยเสี่ยงข้อนี้ เช่น พนักงานออฟฟิศ คนที่ติดโทรศัพท์ ชาวสวน คนเจาะถนน พ่อครัว/แม่ครัว ทันตแพทย์ เป็นต้น
การป้องกันโรคเส้นประสาทอักเสบบริเวณข้อมือ
สำหรับผู้ที่สังเกตว่าตนเองกำลังมีอาการชาหรือปวดข้อมือในระยะที่ไม่รุนแรง ควรหันมาปฏิบัติตามคำแนะนำเบื้องต้นเหล่านี้
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในเรื่องการใช้มือ เช่น หมั่นให้มือได้พักจากการกดหรือถือโทรศัพท์นาน ๆ ไม่ฝืนยกของที่มีน้ำหนักมากเกินไป เวลาพิมพ์งานควรวางมือให้อยู่ตรงตำแหน่งคีย์บอร์ดพอดี และเช็กว่าข้อมือไม่อยู่ในลักษณะที่ต้องบิดขึ้นหรือกดต่ำจนเกิดอาการเกร็ง ซึ่งนอกจากจะช่วยลดอาการปวดข้อมือแล้ว ยังเป็นการป้องกันอาการออฟฟิศซินโดรมได้อีกด้วย
- ควบคุมการกิน เพื่อไม่ให้มีภาวะโรคอ้วน น้ำหนักเกิน หรือเป็นโรคเบาหวาน โดยเน้นการรับประทานผักใบเขียว นม ไข่ อาหารที่มีวิตามินบี 1 บี 6 และบี 12 เช่น เนื้อสัตว์ ตับ ถั่วเมล็ดแห้ง ข้าวซ้อมมือ จะช่วยส่งเสริมให้เส้นประสาทมีการทำงานที่ดีขึ้น
- อาจใช้การประคบเย็นหรือประคบร้อนร่วมด้วย โดยประคบเย็นเมื่อพบว่าข้อมือมีอาการบวม จะเป็นการบรรเทาไม่ให้เส้นประสาทอักเสบจนเสียหายมากกว่าเดิม และใช้การประคบร้อนเมื่อรู้สึกปวดข้อมือ ก็จะช่วยลดอาการปวดได้มากขึ้น
- ถ้าพบว่าอาการปวดที่เป็นอยู่เริ่มมีมากขึ้น ควรรับประทานยาเพื่อลดการอักเสบของเส้นประสาท หาอุปกรณ์ช่วยดามข้อมือชั่วคราว พร้อมกับปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจเพิ่มเติม
เพราะฉะนั้น เพื่อไม่ให้ไปถึงจุดที่เส้นประสาทอักเสบจนมือไม่สามารถทำอะไรได้ จึงไม่ควรมองข้ามหากพบว่าคุณกำลังมีอาการชามือหรือปวดข้อมือจี๊ด ๆ ไม่หยุด และควรเริ่มปฏิบัติตนตามคำแนะนำเบื้องต้น
ที่สำคัญไม่แพ้กันคืออย่าลืมให้ร่างกายได้พักผ่อนบ้าง ลองวางมือจากงานตรงหน้าและมานอนพักเอาแรงสักหน่อยบนท็อปเปอร์ดี ๆ สักผืน พร้อมกับทำท่าขยับข้อมือและนวดฝ่ามือไปด้วย รับรองว่าไม่ใช่แค่ส่วนมือที่จะได้ผ่อนคลาย แต่ทั่วทั้งร่างกายและจิตใจจะต้องเบาสบายอย่างเห็นได้ชัด
ถ้าไม่อยากให้ตอนนอน ต้องเผลอกำมือหรือดิ้นไปมาจนข้อมือถูกเหวี่ยงไม่ได้พัก ควรศึกษาเรื่องวิธีช่วยให้หลับสบายไปด้วย โอกาสที่เส้นประสาทอักเสบรุนแรง จนต้องย้ายไปนอนในห้องผ่าตัดจะได้ลดน้อยลงได้มากที่สุด