หากเอ่ยถึงคำว่า หลักการยศาสตร์ หรือ Ergonomics อาจมีบางคนที่ไม่รู้ว่ามันคืออะไร และฟังดูน่าจะเป็นเรื่องไกลตัว PATEX อยากบอกว่า จริง ๆ แล้วเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการทำงานของเราเป็นอย่างมาก เพราะนี่คือหลักการออกแบบสภาพแวดล้อมในการทำงาน ซึ่งส่งต่อผลลัพธ์ของงานและดีต่อเหล่าคนทำงานทุกคน
Ergonomics คืออะไร
คำว่า การยศาสตร์ หรือ Ergonomics มาจากรากศัพท์ในภาษากรีก 2 คำ คือ “ergon” ที่แปลว่า งาน (work) และคำว่า “nomos” ที่แปลว่า กฎตามธรรมชาติ (Natural Laws) เมื่อนำมารวมกันจะได้เป็นคำว่าใหม่ “Ergonomics” หรือกฎของงาน (Laws of work)
Ergonomics เป็นศาสตร์ที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยมีการประยุกต์หลักวิชาการของหลากหลายสาขา เช่น สรีรวิทยาและกายวิภาคศาสตร์, จิตวิทยา หรือวิทยาศาสตร์ชีวภาพ มาประสานเข้ากับองค์ความรู้ทางด้านวิศวกรรมและกลศาสตร์
เป้าหมายของศาสตร์ Ergonomics นั้น คือการออกแบบและจัดสภาพแวดล้อมการทำงานที่เหมาะสม รวมไปถึงให้คำแนะนำเรื่องการปรับสรีระร่างกาย เพื่อให้คนทำงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีในสถานที่ทำงาน
Ergonomics สำคัญกับเรายังไง
อาการเจ็บป่วยที่คนทำงานเป็นกันมากขึ้นในทุกวันนี้ นอกจากเป็นเพราะท่าทางของเราในระหว่างที่ทำงาน เช่น นั่งทำงานผิดท่า หรือโหมใช้งานร่างกายหนักเกินไปแล้ว ยังเป็นเพราะการออกแบบสภาพแวดล้อมในการทำงานนั้น ไม่เป็นไปตามหลัก Ergonomics หรือไม่เหมาะสมกับสภาพร่างกายของคนเราอีกด้วย จึงกลายเป็นความพยายามปรับคนให้เข้ากับงานที่ทำ แทนที่จะปรับงานให้กับคน และหากปล่อยให้เกิดสภาวะนี้ไปนาน ๆ ย่อมเกิดผลกระทบกับหลายส่วน
ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคนทำงาน เช่น
- ความเมื่อยล้าสะสม
- ความเครียด เบื่อหน่ายเมื่อต้องไปทำงาน อาจกลายเป็นโรคซึมเศร้าตามมา
- ป่วยเป็นโรคทางกระดูกและกล้ามเนื้อ เช่น ปวดหลังเรื้อรัง ปวดคอ หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ปวดชาข้อมือและนิ้ว หรือออฟฟิศซินโดรม
- ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านการรักษาพยาบาล เนื่องจากอาการบาดเจ็บ หรือแม้กระทั่งด้านความบันเทิง เนื่องจากต้องการระบายความเครียดจากที่ทำงาน เป็นต้น
ผลกระทบกับสถานประกอบการ/บริษัท เช่น
- พนักงานหยุดงานมากขึ้น
- จำนวนคนทำงานไม่เพียงพอ
- ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น
- ปริมาณผลผลิตลดลง
- ความผิดพลาดในการทำงานเพิ่มขึ้น
- คุณภาพของงานลดน้อยลง
- การสูญเสียด้านเวลา
- อัตราการลาออกของคนทำงานเพิ่มขึ้น เป็นต้น
เพราะฉะนั้น การเข้าใจเรื่อง Ergonomics และรู้จักนำศาสตร์นี้มาประยุกต์ใช้ให้ถูกต้องและเหมาะสมในการทำงาน โดยยึดหลักการที่ว่า เราต้องปรับงานให้เหมาะกับคน หรือ “Fitting the job to the worker” จะช่วยลดผลกระทบดังที่กล่าวมาก่อนหน้าได้มากมาย และกลับกลายเป็นประโยชน์ให้กับสถานที่ทำงานนั้น ๆ ดังนี้
ประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับคนทำงาน เช่น
- ช่วยให้คนทำงานปฏิบัติงานได้อย่างสะดวกสบาย
- ช่วยลดอุบัติเหตุ ลดความผิดพลาด และเพิ่มความปลอดภัยในที่ทำงาน
- ลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคด้านกระดูกและกล้ามเนื้อ และโรคทางจิตเวช
- มีสมาธิในการทำงานมากขึ้น ประสิทธิภาพของงานดีขึ้น ทำให้เกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง
- ลดค่าใช้จ่ายเนื่องจากอาการบาดเจ็บในที่ทำงาน รวมถึงค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเนื่องจากความเครียด ทำให้มีเงินไว้ลงทุนกับสุขภาพ เช่น การเลือกซื้อที่นอนยางพาราเพื่อสุขภาพ เครื่องออกกำลังกาย หรืออาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
ประโยชน์ที่เกิดกับสถานประกอบการ/บริษัท เช่น - ผลผลิตของงานเพิ่มขึ้น
- งานมีมาตรฐานและคุณภาพเพิ่มขึ้น
- ลดความผิดพลาดและความเสียหายในระหว่างการทำงาน
- การผลิตงานทำได้เร็วขึ้น
- ลดจำนวนของการเรียกร้องเงินสินไหมชดเชย เนื่องจากอุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บของพนักงาน
- สถานประกอบการ/บริษัทมีชื่อเสียงที่ดี เพราะทำให้พนักงานมีความสุข
ตัวอย่างการนำหลัก Ergonomics มาปรับใช้กับที่ทำงาน
- พื้นที่ในการทำงานของแต่ละส่วน ควรมีความกว้างที่เพียงพอให้พนักงานสามารถปรับเปลี่ยนท่าทางได้ง่าย
- เลือกใช้โต๊ะที่ปรับระดับความสูงต่ำได้ เพราะพนักงานแต่ละคนมีความสูงที่แตกต่างกัน และการจัดตำแหน่งของโต๊ะทำงานต้องเหมาะสมกับลักษณะงานของแต่ละฝ่าย เพื่อช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานทำงานได้อย่างสะดวก เพื่อป้องกันอาการเมื่อยล้าจากการทำงานด้วยท่าทางที่ไม่ถนัด
- เก้าอี้ที่ใช้ในการทำงานควรเป็นเก้าอี้ที่มีพนักพิง และอาจมีเบาะรองนั่งให้ผู้ปฏิบัติงานตามความเหมาะสม
- การจัดวางของชิ้นงานหรืออุปกรณ์ในการทำงาน ควรอยู่ในระยะที่ผู้ปฏิบัติงานหยิบจับได้สะดวก หรือมีอุปกรณ์ช่วยเคลื่อนย้ายที่เหมาะสมและเพียงพอ
- พื้นที่ในการทำงานควรมีแสงสว่างเพียงพอ เพื่อช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานไม่ต้องเพ่งสายตา และมีอาการปวดตาเพิ่ม
- สภาพพื้นบริเวณที่ทำงานควรสะอาด ไม่ลื่น และควรมีกลิ่นหอม เพื่อช่วยสร้างความผ่อนคลายให้กับผู้ทำงาน
- มีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนการทำงานในแต่ละส่วน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานได้มีช่วงเวลาพักยืดเหยียดกล้ามเนื้อ
เข้าใจหลัก Ergonomics แล้ว ต้องปรับพฤติกรรมด้วย
สภาพแวดล้อมในการทำงานตามหลัก Ergonomics ย่อมทำให้การทำงานของเราเต็มไปด้วยประสิทธิภาพ แต่เพื่อให้ร่างกายมีความแข็งแรงเพิ่มขึ้น เหล่าคนทำงานต้องรู้จักปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางส่วน เช่น
- นั่งทำงานให้ถูกท่า จัดโต๊ะทำงานตามหลัก Ergonomics
- เปลี่ยนท่าการทำงานทุก 20 นาที
- ลุกขึ้นจากเก้าอี้ทุก 1 ชั่วโมง เพื่อยืดเหยียดกล้ามเนื้อมือและแขน
- พักสายตาจากจอคอมพิวเตอร์ทุก 10 นาที
- หลังเลิกงาน หลีกเลี่ยงการเล่นมือถือนาน ๆ เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อได้พัก และยังช่วยป้องกันการเป็น Text Neck Syndrome
- ฝึกเข้านอนให้เป็นเวลา เพื่อช่วยให้ร่างกายได้ฟื้นฟูความเมื่อยล้า และบรรเทาอาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อในระหว่างวัน
- เลือกนอนบนที่นอนยางพาราทุกค่ำคืน เพราะที่นอนยางพาราแท้ช่วยรองรับสรีระร่างกายได้ครบทั้ง 7 ส่วน เพิ่มความผ่อนคลายให้กล้ามเนื้อทั่วร่าง ใช้แล้วนอนหลับสนิท
หัวใจสำคัญของหลัก Ergonomics คือการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมการทำงานให้เหมาะสมกับคน ซึ่งหากทำได้ย่อมเกิดประโยชน์กับหลาย ๆ ฝ่าย เพราะฉะนั้น เพื่อให้ผลลัพธ์ของงานออกมาดีที่สุด เหล่าคนทำงานทุกคน อย่าลืมปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในการทำงานไปพร้อมกัน