การเดิน เป็นหนึ่งในการเคลื่อนไหวตามธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งเราทุกคนแทบจะต้องทำตลอดเวลา ไม่ว่าจะเดินมาก เดินน้อย เดินใกล้ หรือเดินไกลแค่ไหน จนกลายเป็นความเคยชิน และเลือกเดินตามความ ‘สบายใจ’ ของแต่ละคน มากกว่า ‘สบายกาย’ รู้ตัวอีกที อาการปวดหลัง ปวดเมื่อย ก็มาเยี่ยมเยือน แถมยังโดนคนทักว่าดูไม่มีเสน่ห์ด้วยสิ
ถ้าอย่างนั้น เราขอมาเตือนเรื่องผลเสียจากการเดินท่าทางผิด ๆ สักเล็กน้อย พร้อมบอกวิธีการเดินที่ถูกต้อง เชื่อเถอะว่า บุคลิกจะต้องกลับมาดูดี และลดความเสี่ยงปัญหาปวดหลังไปได้ด้วย
ผลเสียจากท่าทางการเดินที่ไม่เหมาะสม
โครงสร้างของหลัง มีทั้งส่วนที่เป็นกระดูก กล้ามเนื้อ และเส้นประสาท ดังนั้นทุกครั้งที่เราเดิน ส่วนประกอบเหล่านี้ก็จะมีการเคลื่อนไหวไปพร้อม ๆ กัน และแม้ว่าจะถูกออกแบบมาเพื่อรองรับแรงกดและการเสียดสีต่าง ๆ ภายในร่างกาย แต่การเดินด้วยท่าทางที่ไม่เหมาะสม เช่น เดินหลังค่อม เดินกระแทก หรือเดินแอ่นตัวไปด้านหน้าหรือด้านหลังมากเกินไป ย่อมเป็นการเพิ่มแรงกดและการเสียดสีที่มากเกินกว่าปกติ
เมื่อปล่อยไว้นาน ๆ จะกลายเป็นการเร่งเวลาให้ส่วนประกอบข้างต้นเสื่อมเร็วขึ้น สัญญาณเตือนขั้นแรก คือ อาการเมื่อยล้า ปวดหลัง เคล็ดขัดยอก และนำไปสู่โรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อหรือกระดูก เช่น หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท หรือโรคอื่น ๆ ที่ต้องเข้ารับการรักษาอย่างจริงจัง ยิ่งถ้าคนที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน คนที่ทำงานแบบเดินไม่ได้หยุด เช่น พนักงานร้านสะดวกซื้อ ยิ่งต้องระวังเป็นพิเศษ
ดังนั้น หากเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเดินบ่อย ๆ ก็ควรเปลี่ยนเป็นท่าเดินที่ถูกต้อง เพื่อรักษาสุขภาพ แถมปรับบุคลิกให้ดูดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
มาฝึกเดินให้ถูกต้องกันเถอะ
1. ศีรษะตั้งตรง
- เวลาที่ก้าวเดินพยายามให้เงยหน้าขึ้น และบังคับให้ศีรษะอยู่ในแนวตรงกับลำตัว สังเกตได้จากระดับคางที่ต้องอยู่ในแนวขนานกับพื้น และระดับปลายติ่งหูอยู่ในแนวเดียวกับไหล่
- เมื่อไรศีรษะเริ่มโยกหรือสั่นไหวไปตามการก้าวขาหรือการแกว่งแขน ให้นึกว่ามีเชือกล่องหนดึงรั้งศีรษะให้เชิดขึ้นไปเหมือนคุณเป็นตุ๊กตาหุ่นเชิด
- ตามองไปที่พื้นข้างหน้าในระยะประมาณ 3-6 เมตร
2. ยืดอกเข้าไว้
- ไม่ต้องยืดอกให้เหมือนกับเวลาทหารเดิน เพียงแค่ยกขึ้นจนรู้สึกว่าร่างกายตั้งตรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และกระดูกสันหลังได้ถูกจัดระเบียบให้เป็นแนวเดียวกัน จากเดิมที่มีความโค้งงอ
- เวลาที่ยืดอกให้รู้สึกว่ากระดูกซี่โครงถูกยกขึ้นไปด้วย และปอดมีพื้นที่ในการหายใจเพิ่มขึ้น
3. ผ่อนคลายไหล่เล็กน้อย
- ให้คุณยกไหล่ขึ้นมาเหมือนกับทำท่ายักไหล่ จากนั้นม้วนไปด้านหลังสักเล็กน้อย จะรู้สึกได้ทันทีว่ากล้ามเนื้อเกิดการคลายตัว และไหล่จะลงมาอยู่ในตำแหน่งที่เป็นธรรมชาติ ไม่ได้สูงหรือไหล่ตกจนเกินไป อีกทั้งยังทำให้แกว่งแขนได้ง่ายขึ้น
- เมื่อเดินไปนาน ๆ ไหล่อาจเอนหรือเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง ดังนั้น พยายามทำท่านี้ในระหว่างที่เดินไปด้วย เพราะจะช่วยให้ไหล่กลับมาอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง แถมยังเป็นการคลายกล้ามเนื้อหลังส่วนบนได้อย่างง่าย ๆ
- การม้วนไหล่เหมาะอย่างยิ่งกับคนที่ชอบเดินหลังค่อม เพราะเป็นการเตือนตัวเองให้จัดท่าทางอยู่ในลักษณะตั้งตรงได้ง่าย ๆ
4. แกว่งแขนไปด้วย
- กำมือไว้หลวม ๆ พร้อมกับงอข้อศอกให้ทำมุมประมาณ 90 องศา
- แกว่งแขวนสลับกันไปเรื่อย ๆ ซ้าย-ขวา พร้อมกับการก้าวขาอีกข้าง เช่น เมื่อก้าวขาขวาก็ให้แกว่งแขนซ้ายไปด้านหน้า ซึ่งจะเป็นการเดินที่เป็นไปอย่างธรรมชาติ
- ควรแกว่งเป็นแนวเส้นตรงด้านข้างลำตัว ไม่กางออก สะบัดยกสูงถึงช่วงอก หรือชิดตัวจนเกินไป
- การแกว่งแขนต้องเป็นการออกแรงมาจากหัวไหล่ ไม่ใช่จากข้อศอก
5. อย่าแอ่นสะโพก
- การเดินแล้วแอ่นสะโพกไปด้วย กล้ามเนื้อหลังส่วนล่างจะโค้งเว้าเกินพอดี ทำให้เกิดอาการปวดหลังตามมา
- ควรปรับให้สะโพกอยู่ในแนวตรงกับลำตัว พร้อมกับเกร็งหน้าท้อง อกจะถูกยกขึ้นมาด้วย ทำให้ร่างกายอยู่ในแนวตั้งตรง
- ท่านี้ยังเป็นเทคนิคเก็บพุงไปในตัว เพราะเมื่อเราเกร็งหน้าท้องเล็กน้อย และจัดระเบียบสะโพก หลังจะไม่ดูแอ่นเกินไปและพุงก็จะไม่ยื่นไปข้างหน้า
6. ส้นเท้าลงก่อน
- ทุกครั้งที่ก้าวเดินต้องให้ส้นเท้าแตะลงไปที่พื้นก่อน เพื่อรับน้ำหนักตัวก่อน จากนั้นค่อยถ่ายน้ำหนักตัวไปที่ฝ่าเท้าและปลายเท้าตามลำดับ
- ควรวางเท้าไปที่พื้นตรง ๆ ให้เต็มฝ่าเท้า
7. ก้าวสั้น ๆ
- เน้นการก้าวสั้น ๆ โดยให้ระยะของก้าวเท่ากับความกว้างของไหล่
- หากระยะก้าวกว้างเกินไป จะทำให้กล้ามเนื้อต้นขาและสะโพกเมื่อยล้าได้เร็ว
- บิดสะโพกไปตามการก้าวขาแต่ละข้างด้วย เพราะจะช่วยเพิ่มการออกแรงให้กับช่วงสะโพกและกล้ามเนื้อต้นขาได้ดีขึ้น
- จังหวะความเร็วในการก้าวเท้าควรมีความสม่ำเสมอตลอดระยะทางที่เดิน
คราวนี้เวลาเดินไปไหนก็อย่าลืมปรับเปลี่ยนเป็นท่าเดินที่ถูกต้อง สำหรับใครที่ต้องเดินทางไปไหนมาไหนตลอดเวลา ย้ายที่นอนบ่อย เรียกว่าออกเดินไม่ได้หยุด ก็ควรมีท็อปเปอร์ยางพาราสักชิ้นไว้เป็นไอเทมคู่ใจ อย่างท็อปเปอร์ยางพาราแท้ของ PATEX ที่ออกแบบมาเพื่อรองรับสรีระทั้ง 7 ส่วนของร่างกาย แถมไม่ต้องห่วงเรื่องเหงื่อไคลจะทำให้อับชื้น เพราะท็อปเปอร์ยางพาราสามารถระบายอากาศได้ บอกเลยว่า หลังออกเดินมาเหนื่อย ๆ แล้วได้มาล้มตัวบนท็อปเปอร์ยางพารานุ่ม ๆ ต้องอารมณ์ดีสุด ๆ แน่นอน