ใครที่กำลังมีอาการปวดกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย โดยพาะเฉพาะบริเวณคอ บ่า หลัง และมีอาการปวดแบบเรื้อรัง ร่วมกับอ่อนเพลียง่าย นอนหลับไม่สนิท ให้สงสัยเลยว่า คุณอาจกำลังประสบกับโรคไฟโบรมัยอัลเจีย ฟังชื่อแล้วอาจไม่คุ้นหูเท่าไร งั้นเรามาดูกันว่า โรคไฟโบรมัยอัลเจียคือโรคอะไร มีสาเหตุ และวิธีป้องกันอย่างไร เพื่อไม่ให้เป็นโรคนี้
อาการของโรคไฟโบรมัยอัลเจีย
ไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) เป็นโรคเกี่ยวกับกลุ่มอาการปวดชนิดหนึ่ง โดยรายงานจากสหรัฐอเมริกา พบว่าโรคไฟโบรมัยอัลเจีย มักเกิดในเพศหญิงมากกว่าเพศชายถึง 8 เท่า และเกิดกับกลุ่มคนอายุช่วง 35-60 ปี โดยความรุนแรงของโรคจะต่างกันในแต่ละบุคคล แต่อาการสำคัญที่พบได้บ่อย มีดังนี้
- ปวดกระจายทั่วร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นกล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็น จุดที่พบว่ามีอาการปวดบ่อย ๆ ได้แก่ ศีรษะ คอ บ่า หลัง
- ลักษณะอาการปวดจะเป็นแบบตึง ๆ ทั่วร่าง บางรายอาจปวดทั้งตัวร่วมกับมีอาการเจ็บแปลบ โดยอาการปวดหล้ามเนื้อจะเป็นเรื้อรังนานกว่า 3 เดือน
- เผชิญอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยล้าง่าย เพราะอาการปวดกล้ามเนื้อทำให้นอนไม่หลับ หรือหลับได้ไม่สนิท
- มีปัญหาเรื่องความจำ ไม่มีสมาธิ เข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้ช้า พูดช้าลง
- ปวดหัว เวียนหัว จนไปถึงคลื่นไส้ หากมีอาการปวดต้นคอ หรือกล้ามเนื้อคอแข็งเกร็งบ่อย ๆ
ผู้ที่เป็นโรคไฟโบรมัยอัลเจียบางราย อาจมีอาการเพิ่มเติมมากกว่านี้ เช่น ลำไส้แปรปรวน มีอาการขาอยู่ไม่สุข หรือเครียดกับความเจ็บป่วยที่เป็นอยู่ จนกลายเป็นโรควิตกกังวลหรือซึมเศร้าได้ด้วย
สาเหตุของโรคไฟโบรมัยอัลเจีย
จากบทความของ รศ.นพ.ประดิษฐ์ ประทีปะวณิช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้กล่าวถึงสาเหตุของโรคไฟโบรมัยอัลเจียไว้ว่า เดิมเชื่อกันว่าเป็นโรคที่เกิดขึ้นเอง โดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่ปัจจุบันพบว่า จริง ๆ แล้วโรคนี้เกิดขึ้นได้เพราะมีปัจจัยหลาย ๆ อย่างร่วมกัน ที่ทำให้ระบบประสาทส่วนกลาง ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้ความเจ็บปวดตอบสนองไวกว่าปกติ ซึ่งปัจจัยหลักมีอยู่ด้วยกัน 3 ปัจจัย นั่นคือ
- ปัจจัยด้านร่างกาย ผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุ ถูกทำร้าย หรือมีลักษณะทางพันธุกรรมบางอย่าง ที่ทำให้ส่วนสมองและไขสันหลังมีความผิดปกติ หรือผู้ที่ทำงานหนักติดต่อกันหลายปี ก็จะส่งผลให้มีการบาดเจ็บของเนื้อเยื้อในร่างกายอย่างต่อเนื่อง ลักษณะเหล่านี้จึงอาจเป็นปัจจัยแรก ๆ ที่ทำให้เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง และพัฒนาสู่การเป็นโรคไฟโบรมัยอัลเจียได้มากกว่าคนทั่วไป
- ปัจจัยด้านจิตใจ ผู้ที่มีลักษณะนิสัยที่ขี้หงุดหงิด เสพติดความสมบูรณ์แบบ ดื้อรั้น รวมถึงชอบย้ำคิดย้ำทำ จะมีอารมณ์ที่เครียดง่ายกว่าคนปกติ เสี่ยงเป็นโรคเครียดและซึมเศร้า และมักนำไปสู่การเป็นโรคไฟโบรมัยอัลเจียได้มากกว่าถึง 3 เท่า
- ปัจจัยด้านสังคม เนื่องจากสังคมในปัจจุบัน โดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ ต้องเผชิญกับการใช้ชีวิตที่เร่งรีบ ทำให้ร่างกายได้พักผ่อนน้อย อีกทั้งยังส่งผลให้เกิดความเครียดตามมา จึงทำให้ประสบกับโรคเครียดและอาการปวดกล้ามเนื้อ เช่น ออฟฟิศซินโดรม ไฟโบรมัยอัลเจีย นอกจากนั้น ยิ่งถ้ามีปัญหาเรื่องการนอนอยู่แล้ว รวมถึงที่นอนที่ใช้อยู่ผ่อนคลายกล้ามเนื้อได้ไม่ดีพอ ยิ่งจะทำให้อาการปวดกล้ามเนื้อทั่วร่างแย่ลง และพัฒนาเป็นโรคไฟโบรมัยอัลเจียได้
การรักษาโรคไฟโบรมัยอัลเจีย
- หากผู้ป่วยมีอาการปวดกล้ามเนื้อเป็นหลัก และยังทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติ แพทย์จะพิจารณาให้ยาแก้ปวดบรรเทาอาการ เช่น พาราเซตามอล ไอบูโพรเฟน หรือนาพรอกเซน ถ้ามีอาการปวดรุนแรงมาก แพทย์อาจปรับยาเป็นโคเดอีน หรือทรามาดอล ที่สำคัญคือ หากต้องการใช้ยาเหล่านี้ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน เพราะการใช้ยาระงับปวดติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้
- ถ้าผู้ป่วยเริ่มมีอาการวิตกกังวล หรือนอนหลับไม่ร่วมด้วย เช่น กาบาเพนติน พรีกาบาลิน ซึ่งจะช่วยลดความไวของเซลล์สมองและระบบประสาทบางส่วน จึงบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ ทำให้การนอนหลับดีขึ้น รวมถึงช่วยลดอาการวิตกกังวล หรือใช้ยาต้านเศร้า เช่น อะมิทริปไทรีน ดูล็อกซิทีน มิลนาซิพลาน ซึ่งจะช่วยควบคุมปริมาณสารสื่อประสาทในสมอง ซึ่งบรรเทาอาการปวดและอ่อนเพลียได้
- แพทย์อาจแนะนำเรื่องการรักษาโดยไม่ใช้ยาเพิ่มเติมด้วย เช่น การออกกำลังกายในน้ำ การนวด การฝังเข็ม และการทำจิตบำบัด
การป้องกันไฟโบรมัยอัลเจีย
ดังที่กล่าวมาข้างต้นว่า โรคไฟโบรมัยอัลเจียเป็นโรคที่เกิดจากปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน จึงไม่อาจสรุปสาเหตุที่แน่ชัดได้ ดังนั้น การป้องกันที่ดีที่สุด คือการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงและป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงขึ้น เช่น
- ใช้ชีวิตแบบไม่หักโหมจนเกินไป ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การออกกำลังกาย การทำกิจกรรมบันเทิงต่าง ๆ เพราะอาจเร่งเวลาให้เนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อในร่างกายบาดเจ็บได้เร็วขึ้น
- ออกกำลังกายเป็นประจำ เพราะการออกกำลังกายจะทำให้โครงสร้างร่างกายแข็งแรง และมีสุขภาพที่ดีโดยรวม แต่ถ้าใครที่มีเริ่มมีอาการปวดกล้ามเนื้อแล้ว ให้ลองฝึกทำท่าบริหารยืดเหยียดเบา ๆ หรือทำโยคะทุกวัน ก็ช่วยลดความเสี่ยงได้
- เรียนรู้วิธีจัดการความเครียด โดยให้ค้นหาหลาย ๆ วิธีและลองทำตาม เพื่อจะได้วิธีจัดการความเครียดที่เหมาะกับเราที่สุด ซึ่งอาจมีทั้งการฟังเพลงผ่อนคลาย การพูดคุยระบายความในใจกับเพื่อน การเลี้ยงสัตว์ หรือการปรึกษาจิตแพทย์
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะผู้ที่เป็นโรคนี้มักมีอาการอ่อนเพลียง่าย ดังนั้นถ้าค้นพบว่านอนหลับไม่ได้ ต้องหาสาเหตุให้เจอว่าเป็นเพราะอะไร เช่น เป็นเพราะเครียดเกินไปอาจต้องปรึกษาจิตแพทย์ เป็นเพราะปวดกล้ามเนื้อก็ควรทานยาระงับปวด ร่วมกับเลือกใช้ที่นอนยางพาราแทน เพราะที่นอนยางพาราจะรองรับสรีระ และเพิ่มความผ่อนคลายให้กับกล้ามเนื้อได้ดีกว่าที่นอนทั่วไป จึงมีส่วนช่วยบรรเทาอาการปวดที่เป็นอยู่ได้